ตัวชี้วัดที่สำคัญของจังหวัด
การบริหารราชการในปัจจุบัน มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนและนโยบายเชิงประจักษ์ (Evidence-based Plan and Policy) ซึ่งหมายถึง การจัดทำแผนและนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูล รัฐบาลชุดปัจจุบันกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ (Country Strategy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในอีก 10-15 ปีข้างหน้าใน 4 มิติ คือ
1. มิติด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Growth & Competitiveness)
2. มิติด้านความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม (Inclusive Growth)
3. มิติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)
4. มิติด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency)
ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำยุทธศาสตร์ของทุกจังหวัดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ รัฐบาลจึงขอให้ทุกจังหวัดทำการทบทวนการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัด และจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้ใช้ข้อมูลสถิติเป็นเครื่องมือในการประเมินผล เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและปัญหาของจังหวัดได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนและบูรณาการแผนงาน/โครงการตามความต้องการในการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อไป ในเบื้องต้นนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาระดับจังหวัด จำนวน 26 ตัวชี้วัด สำหรับให้จังหวัดได้ใช้ในการประเมินสถานการณ์ของจังหวัด และใช้ทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
ภาพรวมตัวชี้วัดการพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ